ช่วงบ่ายวันนี้ (31 ม.ค. 61) ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานมอบวุฒิบัตร พร้อมให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาระดับอาชีวะ เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมยางพาราและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2561 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน
นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การอบรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาระดับอาชีวะเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมยางพาราและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2561 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ผู้รับการอบรมจะได้รับทราบข้อมูลต่างๆในการเตรียมความพร้อมตนเองเพื่อการหางาน ซึ่งหากทุกคนมีงานทำมีอาชีพมั่นคงจะส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดและประเทศชาติต่อไป
จากข้อมูลผลสำรวจความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยพบว่า ภาคอุตสาหกรรมยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับกลาง (Mid-Skill) โดยเฉพาะกลุ่มช่างเทคนิคที่ทำงานในโรงงาน รัฐบาลจึงได้มีนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาในระดับอาชีวะโดยให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดสงขลาเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 ตำบล ในอำเภอสะเดา ซึ่งจะส่งผลดีในทางเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ทั้งภาคอุตสาหกรรม , การลงทุน , การค้า , การบริการ , การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตด้านต่างๆในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดสงขลา ที่สนับสนุนเชื่อมโยงไปสู่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในหลายสาขาอาชีพตามมาด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เข้าอบรมไม่ต้องเดินทางไกลไปหางานทำที่อื่น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคนของจังหวัดสงขลา รองรับตลาดแรงงานในธุรกิจประเภทต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดสงขลา จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดเสริมความรู้ด้านต่างๆ และรับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากภาคเอกชน เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการทำงานในยุค ประเทศไทย 4.0 นอกเหนือจากความสามารถด้านเทคโนโลยีแล้ว จะต้องมีความสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ มีทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยหลักวิชาและทักษะทางปัญญาควบคู่กันไปด้วย